เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล ทีมสุขโข แปลภาษา ขอนำเสนอประวัติศาสตร์ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเรื่องชื่อวันฉบับภาษาอังกฤษ-ฝรั่งเศส รวมถึงหัวข้องานประจำปีนี้ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ ปิดท้ายด้วยบทสัมภาษณ์นักแปลหญิงของสุขโข
การต่อสู้เรียกร้องสิทธิสตรีได้กระทำมาตลอดกระแสประวัติศาสตร์นานนับศตวรรษ แรกเริ่มเกิดขึ้นจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้า รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการลดชั่วโมงการทำงาน การเพิ่มค่าจ้าง และสิทธิในการลงคะแนนเสียง แต่สุดท้ายกลับมีผู้หญิงถึง 119 คน ต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ลอบวางเพลิงเผาโรงงานที่พวกเธอชุมนุมกันอยู่ โดยเหตุการณ์ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1857 การประท้วงในครั้งนี้ก่อให้เกิดการประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิสตรีอีกหลายครั้งต่อมา
ต่อมาในปี 1907 คลาร่า เซทคิน นักกิจกรรมชาวเยอรมัน ได้ตัดสินใจปลุกระดมเหล่ากรรมกรสตรี โดยนัดหยุดงานในวันที่ 8 มีนาคม เพื่อเรียกร้องให้นายจ้างลดเวลาการทำงานลงเหลือวันละ 8 ชั่วโมง และปรับปรุงสวัสดิการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม มีแรงงานหญิงหลายร้อยคนถูกจับกุม และการชุมนุมไม่เป็นผลสำเร็จ แต่ก็เป็นการจุดประกายให้สตรีทั่วโลกเริ่มตระหนักถึงสิทธิของตนเอง
ในปี 1910 ความพยายามของกรรมกรสตรีก็ประสบผลสำเร็จ เมื่อมีตัวแทนสตรีจาก 17 ประเทศ เข้าร่วมประชุมสมัชชาสตรีสังคมนิยมครั้งที่ 2 ณ เมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก โดยในที่ประชุมได้ประกาศรับรองข้อเรียกร้องของบรรดากรรมกรสตรี ในระบบสาม 8 คือ ยอมให้ลดเวลาทำงานเหลือวันละ 8 ชั่วโมง ให้เวลาศึกษาหาความรู้เพื่อตนอีก 8 ชั่วโมง และอีก 8 ชั่วโมงเป็นเวลาพักผ่อน ทั้งยังได้ปรับค่าแรงของแรงงานหญิงให้เท่าเทียมกับแรงงานชาย และยังมีการคุ้มครองสวัสดิการสตรีและแรงงานเด็กอีกด้วย ในปีถัดมา หลายประเทศในยุโรปจึงเริ่มจัดงานวันสตรีสากลเป็นครั้งแรก ในวันที่ 19 มีนาคม ซึ่งมีประชาชนนับล้านเข้าร่วมการเดินขบวน
วันที่ 8 มีนาคม 1917 (23 กุมภาพันธ์ ตามปฏิทินจูเลียน) สตรีชาวรัสเซียได้ออกมาเดินขบวนหลังทหารรัสเซียต้องเสียชีวิตไปกว่า 2 ล้านรายในสงครามโลกครั้งที่ 1 แม้รัฐบาลของกษัตริย์รัสเซียพยายามกำราบ แต่ประชาชนยังคงลุกฮือต่อต้าน ท้ายที่สุดกลุ่มสตรีได้นัดหยุดงานประท้วงในวันสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อให้ได้รับ “ขนมปังและสันติ” สี่วันต่อมา พระเจ้าซาร์ได้สละอำนาจและรัฐบาลเฉพาะกาลได้ให้สิทธิสตรีในการออกเสียงลงคะแนน ในช่วงปีเดียวกันนี้เองที่วันที่ 8 มีนาคมได้รับการกำหนดให้เป็นวันเฉลิมฉลองสิทธิสตรี
ในทศวรรษถัดมาหลังการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีในการลงคะแนนเสียงเป็นผลสำเร็จ การให้ความสำคัญกับวันสตรีสากลค่อย ๆ เสื่อมลง ในช่วงสงครามสิทธิสตรีถูกละเลยไป จวบจนหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ในที่สุดในปี 1977 องค์การสหประชาชาติได้กำหนดให้วันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล เพื่อยกย่องการต่อสู้ของผู้หญิงซึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ล้วนสัมพันธ์กับวันที่ 8 มีนาคม
เกร็ดเล็กน้อยด้านภาษา
วันสตรีสากลภาษาอังกฤษใช้คำว่า International Women's Day
วันสตรีสากลภาษาฝรั่งเศสใช้คำว่า La Journée internationale des femmes โดยคำนี้แปลมาจากภาษาอังกฤษ และถือเป็นคำทางการที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ แต่ในประเทศฝรั่งเศสนิยมเรียกว่า Lajournée internationale des droits des femmes เนื่องจากต้องการเน้นย้ำคำสำคัญคือ “droit” ซึ่งหมายถึง “สิทธิ”
ในปี 2022 นี้ องค์การสหประชาชาติได้กำหนดหัวข้องานเป็นภาษาอังกฤษว่า “Gender equality today for a sustainable tomorrow” และเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า « L'égalité aujourd'hui pour un avenir durable. » หากเปรียบเทียบการใช้ภาษาของทั้ง 2 ประโยคจะพบว่า ภาษาอังกฤษใช้คำว่า “Gender equality” ซึ่งให้ความหมายเรื่องเพศได้อย่างชัดเจน แต่ในฉบับภาษาฝรั่งเศสกลับไม่ปรากฏคำว่าเพศ ผู้เขียนสันนิษฐานว่า ประโยคภาษาฝรั่งเศสต้องการแสดงออกมากกว่าแค่เรื่องเพศ กล่าวคือ พูดถึงความเท่าเทียมในทุกมิติ หรืออาจตีความได้อีกนัยหนึ่งว่าได้ก้าวข้ามคำว่า “Gender” ไปแล้ว
ในแง่มุมของการแปลประโยคทั้งสองข้างต้น ผู้แปลควรเก็บเจตนาหรือความมุ่งหมายของต้นฉบับเอาไว้ เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้อ่านได้เทียบเท่าต้นฉบับ ดังนั้น ประโยคจากต้นฉบับภาษาอังกฤษข้างต้นควรแปลว่า “ความเท่าเทียมทางเพศวันนี้สู่อนาคตที่ยั่งยืน” ส่วนประโยคจากต้นฉบับภาษาฝรั่งเศส ควรแปลว่า “ความเท่าเทียมวันนี้สู่อนาคตที่ยั่งยืน”
มุมมองเรื่องความเท่าเทียมในแบบฉบับนักแปลหญิง ของสุขโข แปลภาษา
ทีมสุขโข: “ก่อนอื่นต้องขอกล่าวสวัสดีกับพี่นักแปลที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีอย่างพี่ก้อย และตัวแทนสมาชิกคนใหม่อย่างพี่เกมที่มาร่วมให้การสัมภาษณ์กับเราในวันนี้ เรามาเริ่มกันที่คำถามแรก พี่ก้อยและพี่เกมคิดว่าบทบาทของผู้หญิง ใน สุขโข แปลภาษา นั้นแตกต่างไปจากความคิดตัวเองไหม เช่น การแต่งกาย มีกฎเกณฑ์บังคับหรือเปล่า”
พี่ก้อย: “ขอเจาะจงไปที่การแต่งกายแล้วกันนะคะ ที่สุขโข แปลภาษา ให้อิสระในการแต่งกายอย่างเต็มที่ เพียงเลือกแต่งกายให้สุภาพถูกกาลเทศะเท่านั้น โดยส่วนตัวไม่เคยรู้สึกอึดอัดเรื่องการแต่งกายเพื่อไปทำงาน”
พี่เกม: “ตอนที่เข้าทำงานใหม่ ๆ รู้สึกกังวลเล็กน้อยเพราะคิดว่าบริษัทนี้ก็จะมีลักษณะการทำงาน มีกฎเกณฑ์ มีความเหลื่อมล้ำไม่ต่างจากสถานที่ทำงานอื่น แต่เมื่อได้ทำงานเลยพบว่าไม่ใช่เลย ที่นี่อนุญาตให้แต่งตัวได้อย่างเสรีในลักษณะที่สุภาพ ทั้งยังให้ความสำคัญกับพนักงานอย่างเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีเส้นสาย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสามารถของบุคคลทั้งสิ้น พร้อมให้การส่งเสริมในด้านที่แต่ละคนสนใจเป็นอย่างดี”
ทีมสุขโข: “แล้วจากคำพูดที่ว่า “ต้องรับผิดชอบงานที่ปริมาณมากกว่าหรือยากกว่าเพื่อให้ได้มาซึ่งความสำเร็จ” พี่ ๆ ทั้งสองมีความคิดเห็นอย่างไร รู้สึกไหมว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในคำพูดนั้น”
พี่ก้อย: “ความสำเร็จต้องแลกมาด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท รวมถึงการเจริญก้าวหน้าในอาชีพการงานย่อมต้องผ่านบททดสอบ ซึ่งบททดสอบที่ว่านี้อาจจะเป็นการทำงานที่มากขึ้นหรือยากขึ้นก็ได้ โดยส่วนตัวมองว่าการที่ทำงานได้มากขึ้นหรือทำงานที่ยากกว่าเดิมได้ถือเป็นความสำเร็จอีกขั้นหนึ่ง เพราะถือว่าก้าวข้ามขีดความสามารถเดิมของตนเอง”
พี่เกม: “คิดว่าตัวเองก็เป็นส่วนหนึ่งในคำพูดนั้น แต่ก็อยู่บนพื้นฐานของความสมัครใจและความพร้อม ไม่ได้มาจากการถูกบังคับหรือความกดดัน เพราะเป็นเรื่องปกติที่เมื่อคนเราอยากจะก้าวหน้า ก็ย่อมต้องพัฒนาตัวเอง ต้องขวนขวายทำในสิ่งต่าง ๆ มากขึ้นเพื่อไม่เป็นการย่ำอยู่ที่เดิมตลอดเวลา”
ทีมสุขโข: “ถือเป็นข้อคิดให้คนอื่น ๆ ในทีมได้ดีเลย แต่เราอยากทราบว่า ถ้าพูดถึงบทบาทของเพศหญิงในสังคมการทำงานทั่วไป ทั้งพี่ก้อยและพี่เกมมีมุมมองในภาพรวมเป็นอย่างไรบ้าง”
พี่ก้อย: “สำหรับบทบาทการทำงานของผู้หญิง โดยรวมคิดว่าค่อนข้างเปิดกว้าง ไม่ว่าชายหรือหญิงก็มีโอกาสประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานเท่ากัน โดยมีความสามารถเป็นตัววัด มีเพียงงานบางประเภทที่จำกัดว่าต้องเป็นเพศชายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผู้ชายบางส่วนยึดติดว่าผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายทำกับข้าว ทำงานบ้าน หรือดูแลลูก ถึงแม้ฝ่ายหญิงเองจะทำงานนอกบ้านด้วย ซึ่งประเด็นนี้มองว่าสามารถทำได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิง” พี่เกม: “แต่ก่อนมองว่ามีความเหลื่อมล้ำทางเพศสูงไม่ว่าจะเป็นการทำงานหรือการใช้ชีวิตต่าง ๆ รู้สึกว่าเพศชายจะมีสิทธิ์หรือได้รับพิจารณาในการทำงานมากกว่าผู้หญิงเรา แต่ปัจจุบันนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงเห็นชัด มีการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมากขึ้น และมุ่งเน้นเรื่องความรู้ความสามารถมากกว่าเรื่องเพศ”
ทีมสุขโข: “ในคำถามปิดท้ายก่อนลากันไป เราขอเน้นไปที่พี่เกม เนื่องจากเราทราบมาว่าตอนนี้พี่เกมมีลูกสาวหนึ่งคน เราจึงสงสัยไม่น้อยเลยว่า การทำงานประจำควบคู่ไปกับการเลี้ยงดูลูกสาวตัวน้อยมีความยากลำบากขนาดไหน อยากให้พี่เกมช่วยเล่าสู่กันฟังสักนิดหนึ่ง”
พี่เกม: “ตอบตามตรงเลยก็คือ ช่วงแรก ๆ ยากลำบากมาก เพราะคนเป็นแม่ย่อมอยากอยู่ใกล้ชิดและอยากดูแลลูกในทุกช่วงเวลา แต่เราต้องทำงาน ฉะนั้น ในช่วงเวลาทำงานก็เลยจำเป็นต้องหาคนดูแลลูกแทน ในอีกมุมหนึ่ง มองว่าทางบริษัทแห่งนี้ได้ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และเปิดโอกาสอย่างเต็มที่ให้พี่ได้ใช้เวลากับลูกและครอบครัว เพราะตั้งแต่อุ้มท้อง ทั้งเจ้านายและเพื่อนร่วมงานก็เอาใจใส่ เมื่อคลอดก็ให้วันลาพักอย่างเต็มที่ และยังให้โอกาสลาหยุดลาพักร้อนได้ จึงทำให้รู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติที่ผู้หญิงจะทำงานพร้อมกับเลี้ยงลูกไปด้วย และรู้สึกว่าโชคดีมาก ๆ ที่ได้รับโอกาสและการส่งเสริมที่ดีจากบริษัทที่แห่งนี้ค่ะ”
SUKO Translation
Translation agency - Thai / French / English
Accredited by the Embassy of France, the Embassy of Belgium, the Embassy of Switzerland and the Embassy of Grand Duchy of Luxembourg in Bangkok.
Member of the Franco-Thai Chamber of Commerce.
055-697-155 | 093 315 4000
Comments