เมื่อปี 2555 ที่ประชุมสหประชาชาติได้มีมติให้ วันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็น "วันความสุขสากล" (The International Day of Happiness) โดยมีวัตถุประสงค์ให้ทุกคนเฉลิมฉลองและตระหนักถึงความสุขอันเป็นเป้าหมายพื้นฐานของมนุษย์ รวมทั้งเป็นการเรียกร้องให้เกิดการผลักดันและเข้าถึงนโยบายสาธารณะเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีในชีวิตของผู้คนทั่วโลก
องค์การสหประชาชาติใช้ ดัชนีความสุขโลก เป็นเครื่องมือที่วัดความสุขของผู้คนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกออกมาเป็นตัวเลขชัดเจนแล้วนำเสนอผ่าน "รายงานความสุขโลก" โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น สวัสดิการสังคม อายุขัยเฉลี่ย เสรีภาพในการใช้ชีวิต ปัญหาการทุจริต ฯลฯ โดยในรายงานประจำปี 2565 ประเทศที่มีดัชนีความสุขมากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ และเนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ สำหรับประเทศไทย รายงานนี้ระบุว่าความสุขของคนไทยในปี 2565 ตกไปอยู่อันดับที่ 61 ซึ่งแย่ลง 7 อันดับเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
นอกจากปัจจัยภายนอกแล้ว ความสุขยังประกอบด้วยมิติอื่น ๆ ที่วัดผลออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้ อาทิ การมีร่างกายและจิตใจที่แข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งเราสามารถสร้างเองได้ง่าย ๆ โดยการออกกำลังกายเพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจรวมทั้งช่วยลดความเครียด การพักผ่อนเพื่อให้ร่างกายและจิตใจได้ปล่อยวางและฟื้นฟูตนเอง การใช้เวลากับสิ่งที่เรารักหรือคนที่เรารัก และที่สำคัญคือการมองเห็นคุณค่าของความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราพบเจอในชีวิตประจำวัน
แม้ในปัจจุบัน ความสุขได้กลายเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์พึงมีและสนับสนุนให้ภาครัฐส่งเสริมปัจจัยที่เอื้อต่อการสร้างความสุข แต่ความสุขก็ไม่ใช่สิ่งที่ใครจะหยิบยื่นให้ได้ เพราะความสุขของแต่ละคนล้วนแตกต่างกันไป เราจึงต้องสร้างและไขว่คว้าความสุขเหล่านั้นด้วยตนเอง ดังที่ Aristotle นักปรัชญาชาวกรีกกล่าวไว้ว่า "Happiness depends upon ourselves." หรือ "ความสุขขึ้นอยู่กับตัวเราเอง"
สุขโข แปลภาษา ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนค้นพบความสุขในแบบของตัวเอง
Comments